แบคทีเรียกินพลาสติกคืออะไร จะช่วยลดมลพิษให้กับโลกได้หรือไม่

นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนา "พลาสติกที่ย่อยสลายตัวเองได้" ซึ่งพวกเขาบอกว่าจะช่วยลดปัญหามลพิษที่มาจากขยะพลาสติก

โพลียูรีเทน (Polyurethanes) เป็นพลาสติกที่ถูกใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เคสโทรศัพท์มือถือไปจนถึงรองเท้ากีฬา แต่โพลียูรีเทนนั้นรีไซเคิลได้ยากและส่วนใหญ่มักจะถูกกำจัดด้วยการนำไปฝังกลบ

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ค้นพบทางแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เหมือนในนิยายวิทยาศาสตร์ ด้วยการผสมสปอร์ของแบคทีเรียกินพลาสติกที่นักวิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้นเข้าไปในเนื้อพลาสติก ทำให้เกิดพลาสติกชนิดใหม่ที่สามารถย่อยสลายตัวเองได้

ตัวสปอร์ชนิดนี้จะอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหวในช่วงอายุการใช้งานของพลาสติก แต่จะกลับมามีชีวิตและเริ่มย่อยสลายผลิตภัณฑ์พลาสติกนั้น เมื่อมันสัมผัสกับสารอาหารที่อยู่ในกองปุ๋ยหมัก

เรื่องนี้ทำให้การลดมลพิษมีความหวังมากขึ้น ฮาน โซล คิม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซาน ดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ กล่าวว่า "เราสามารถลดมลพิษจากพลาสติกที่อยู่ในธรรมชาติได้"

นอกจากนี้สปอร์ของแบคทีเรียยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือเพิ่มความทนทานให้กับพลาสติก

"กระบวนการของเราทำให้วัสดุมีความทนทานมากขึ้น ดังนั้น มันจึงช่วยยืดอายุการใช้งาน" จอน โพกอร์สกี นักวิจัยร่วม กล่าว "จากนั้นเมื่อเราใช้งานมันจนเสร็จแล้ว เราสามารถกำจัดมันออกจากสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม"

เขากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า พลาสติกชนิดย่อยสลายตัวเองยังอยู่ในขั้นตอนของห้องปฏิบัติการ แต่จะใช้งานได้จริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หากผู้ผลิตพลาสติกเข้ามามีส่วนช่วยเหลือ

แบคทีเรียที่ถูกนำมาผสมในพลาสติก คือ แบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) เป็นแบคทีเรียที่มีการใช้อย่างกว้างขวางในวัตถุเจือปนอาหารและโพรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กชนิดหนึ่ง

แต่กระบวนการสำคัญที่สุดในการผลิตพลาสติกย่อยสลายตัวเองได้คือ แบคทีเรียจะต้องได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้สามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงมาก ซึ่งจำเป็นในการผลิตพลาสติก

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเชื่อมั่นต่อแนวคิดในการพัฒนาวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และนำมาใช้แทนพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์บางคนโต้แย้งว่า การลดปริมาณการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นเป็นวิธีการที่ดีกว่ามาก

ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติรอบสุดท้าย เกี่ยวกับสนธิสัญญาอนาคตพลาสติกโลก สิ้นสุดลงไปแล้วในประเทศแคนาดา ซึ่งชาติสมาชิกได้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก

ศาสตราจารย์สตีฟ เฟลทเชอร์ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิวัติพลาสติก มหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการจัดการกับมลพิษพลาสติกคือการมีข้อตกลงร่วมกันในระดับโลกอย่างมีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อลดปริมาณพลาสติก

เขากล่าวกับบีบีซีว่า "ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ในลักษณะนี้ เพราะมันอาจให้ความรู้สึกว่า เราควรลดความกังวลให้น้อยลงเกี่ยวกับมลพิษพลาสติก เพราะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมมันจะย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย แต่อย่างไรก็ดี สำหรับพลาสติกส่วนใหญ่มันไม่เป็นเช่นนั้น"

งานวิจัยชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications)

2024-05-03T07:36:17Z dg43tfdfdgfd