เห็นกับตา ดูชัดๆ 'ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่' โชคดีได้เจอ หาดูยากในพื้นที่สูง

ดูชัดๆ ให้เห็นกับตา เปิดภาพ "ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่" โชคดีแล้วได้เจอ หาดูยากในพื้นที่สูง เป็นสัตว์ป่ากินแมลง หากินในป่าสมบูรณ์ สถานภาพสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ ควรคู่ช่วยกันดูแลรักษาให้เป็นสมบัติชาติต่อไป

 

 

ทำความรู้จักค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่ หาดูยากในพื้นที่สูง

ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่ (Bourret's Horseshoe Bat) Rhinolophus rex G. M. Allen, 1923 

เป็นค้างคาวที่อยู่ในวงศ์ค้างคาวมงกุฎ (Family RHINOLOPHIDAE) เดิมใช้ชื่อว่า Rhinolophus paradoxolophus (Bourret,1951) 

แต่จากการศึกษาของ Tu VT และคณะ (2023) ได้จัดเป็นชนิดเดียวกันกับ R. rex ซึ่งค้างชนิดนี้เป็นค้างคาวกินแมลง หากินในป่าสมบูรณ์ การกระจายพบมากในประเทศจีน ด้านทิศเหนือของลาว พม่าและเวียดนาม 

 

 

การค้นพบ "ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่" ในพื้นที่ประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยมีรายงานพบที่ทุ่งกระมัง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยคุณกิติ ทองลงยา เมื่อปี 2515 

พบที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2545 

นอกจากนี้ยังพบที่จังหวัดเลย และจังหวัดตาก ซึ่งเป็นค้างคาวที่พบไม่บ่อยนัก เนื่องจากเป็นค้างคาวที่พบในพื้นที่สูง

การค้นพบ "ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่" ในสถานีสัตว์ป่าดอยเชียงดาว

ครั้งนี้สถานีสัตว์ป่าดอยเชียงดาวได้ดำเนินทำการดักจับเพื่อสำรวจความหลากชนิดของค้างคาวในพื้นที่ป่าสนที่มีความสูง 1,450 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ตามโครงการวิจัยการพัฒนาฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์ป่าในพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลระยะเร่งด่วน 

ซึ่งพบค้างคาวทั้งสิ้น 11 ชนิด โดยมีค้างคาวชนิดนี้เป็นที่น่าสนใจจากลักษณะที่แตกต่างจากชนิดอื่นชัดเจน มีกระดูกท่อนแขนล่าง (Forearm) 54 mm.

 

      

ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่ สัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย สถานภาพของค้างคาวตามสถานภาพการคุกคาม (โลก) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุด Least Concern: LC (IUCN, ) 

ส่วนสถานภาพการคุกคาม (ไทย) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ Vulnerable: VU (สำนักนโยบายและแผนงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2563)

        

พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งมีความหลากหลายสูงทั้งด้านพืชและสัตว์ จึงควรช่วยกันดูแลรักษาให้เป็นสมบัติของชาติตลอดไป

 

 

ข้อมูลการพบ "ค้างคาว" ในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีจำนวนชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมประมาณ 310 ชนิด โดยมีจำนวนชนิดของค้างคาว เป็นจำนวนประมาณ 120 ชนิดและคิดเป็น 11% ของทั้งโลก

โดยแบ่งเป็นค้างคาวกินผลไม้ 20 ชนิด ค้างคาวกินแมลง 99 ชนิด ส่วนอีก 1 ชนิด เป็นค้างคาวที่กิน สัตว์อื่นเป็นอาหาร 

โดยมีค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Pteopus vampyrus) เป็นค้างคาวกินผลไม้ ที่มีน้ำหนักตัว 1 กก. เมื่อกางปีกออกทั้งสองข้างจะ กว้างถึง 2 เมตร 

มีค้างคาวที่เล็กที่สุดในโลก คือ ค้างคาวคุณกิตติ (Craseonycteris thonglongyai) เป็นค้างคาวกินแมลง มีน้ำหนักเพียง 2 กรัม ช่วงปีกกว้างเพียง 16 เซนติเมตร

ประเภทของค้างคาว

  • ค้างคาวกินแมลง มักจะมีเยื่อพังผืดบางๆ เชื่อมกันระหว่างขาหลังทั้งสอง และตาจะมีขนาดเล็กมาก จมูกจะตั้ง หูตั้งสูง และมีแผ่นหนังพิเศษช่วยในการรับเสียงอาศัยอยู่ในถ้ำ
  • ค้างคาวกินผลไม้ จะมีดวงตาที่ใหญ่ ทำให้มองเห็นได้ดีในที่มืด มีจมูกที่ไวในการรับกลิ่นดอกไม้และผลไม้ และจมูกมักมีขอบยื่นออกมาไม่มีพังผืดระหว่างขาหลัง บริเวณปีกด้านหน้ามีเล็บยื่นออกมาเพื่อช่วยในการปีนป่าย

อ้างอิง-ภาพ : สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว , wikipedia

2024-05-07T06:23:24Z dg43tfdfdgfd