ความมั่งคั่ง : สร้างหรือรับ

ดิฉันเคยเขียนถึงจากการสำรวจผู้มีความมั่งคั่งสูงว่าได้ความมั่งคั่งมาจากไหน เมื่อหลายปีก่อน ในคราวนี้ Altrata และ Wealth-X มีงานสำรวจผู้มีความมั่งคั่งสูงกลุ่มอภิมหาเศรษฐี (Ultra High Net Worth Individuals) คือผู้มีความมั่งคั่งเกิน 30 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,100 ล้านบาทขึ้นไป ในปีที่แล้ว และมีสถิติที่น่าสนใจ ดิฉันจึงจะขอนำมาเล่าให้อ่าน ผนวกกับการมองแนวโน้มและโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจล่าสุดพบว่าจำนวนเพิ่มจากปี ค.ศ.2004 ที่มี 157,000 คน ถือครองความมั่งคั่ง 9.6% ของความมั่งคั่งรวม เติบโตขึ้นเป็น 276,640 คนในปี 2015 และมีส่วนแบ่งความมั่งคั่งเพิ่มเป็น 9.9% และมาก้าวกระโดดในช่วงหลังนี้ (เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น)​ โดยคาดว่า จำนวนอภิมหาเศรษฐีในโลกนี้ จะเพิ่มเป็น 528,100 คนในอีกสามปีข้างหน้า คือปี ค.ศ. 2027 โดยห้าแสนกว่าคนนี้จะมีความมั่งคั่งรวมกันเป็นสัดส่วนสูงถึง 11.1% ของความมั่งคั่งรวมในโลก และประชากรอีกประมาณ 8,000 ล้านคน มีส่วนแบ่ง 88.9%

ปัจจุบัน อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้เป็นใคร มีที่มาอย่างไร

พบว่าอายุเฉลี่ยของกลุ่มนี้ทั้งโลกคือ 65.1 ปี โดยอภิมหาเศรษฐีในทวีปอเมริกาเหนือมีอายุเฉลี่ยสูงสุดคือ 67.1 ปี รองลงมาอาศัยอยู่ยุโรป อายุเฉลี่ย 63.8 ปี และในเอเชียมีอายุเฉลี่ย 62.6 ปี โดยสามารถแบ่งที่มาของความมั่งคั่งได้สามกลุ่มคือ กลุ่มผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) มีความมั่งคั่งมัธยฐาน (Median Wealth) ที่ 77.7 ล้านดอลลาร์ กลุ่มผู้บริหาร (Executives) มีความมั่งคั่งมัธยฐานที่ 40.9 ล้านดอลลาร์ และกลุ่มรับมรดกตกทอด (Inheritors) มีความมั่งคั่งมัธยฐานที่ 52.4 ล้านดอลลาร์

ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายค่ะ เฉลี่ยอภิมหาเศรษฐีทั้งหมด มีผู้หญิงเพียง 10.9% โดยกลุ่มที่มีผู้หญิงเป็นสัดส่วนสูงที่สุดคือ กลุ่มรับมรดกตกทอด เป็นผู้หญิง 39.2% ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการเป็นผู้หญิง 8.8% และกลุ่มผู้บริหาร เป็นผู้หญิงเพียง 7.6% เท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อสำรวจลึกลงไป พบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นอภิมหาเศรษฐีนั้น สร้างความมั่งคั่งมาด้วยตนเอง ถึง 85% ที่เหลือจะเป็นส่วนผสมระหว่าง สร้างเองกับรับมรดกตกทอดมา หรือรับมรดกอย่างเดียว

สรุปว่าผู้มีความมั่งคั่งสูงในปัจจุบันส่วนใหญ่ สร้างความมั่งคั่งด้วยตนเอง

ดิฉันสันนิษฐานว่า การที่มีประชากรสูงวัยเพิ่ม ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง บวกกับการมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ทำให้ธุรกิจในยุโรป ที่ไม่ได้มีการกระจายตลาดหรือการผลิตหรือบริการไปยังภูมิภาคอื่นในโลกที่มีการเติบโตสูง เช่นเอเชีย เติบโตช้า (นี่คือสาเหตุที่ดิฉันสนใจลงทุนในยุโรปน้อย) ดังนั้นสัดส่วนของอภิมหาเศรษฐีในยุโรป จึงมีลดลงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นในโลก โดยอภิมหาเศรษฐีในยุโรป เคยมีสัดส่วนถึง 41.2% ของโลกในปี 2004 ลดลงมาเหลือ 35% ในปี 2013 และ 25.8% ในปี 2022 และคาดว่าจะมีสัดส่วนเพียง 25% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลกในปี ค.ศ. 2027

สวนทางกับเอเชีย ซึ่งเคยมีสัดส่วนความมั่งคั่ง 15.2% ของโลกในปี 2004 สามารถแซงหน้ายุโรปได้ในปี 2019 และคาดว่าในปี 2027 จะมีสัดส่วน 29.1% ของความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีในโลก

พบว่ามีสิ่งหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นแต่ผู้คนอาจจะยังไม่ได้สังเกตอย่างจริงจัง นั่นคือกลุ่มคนรุ่น “เจน Z” (Generation Z) จะเริ่มมีอิทธิพลต่อหลายๆวงการ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการความมั่งคั่ง การตลาด อสังหาริมทรัพย์ การคมนาคม การเข้าสู่ตลาดแรงงาน ไปจนกระทั่งถึงการจัดการเรื่องการให้สัญชาติแก่กลุ่มคนเหล่านี้

“เจน Z” ถ้าอ่านแบบอังกฤษสำเนียงอเมริกันก็ต้องอ่านว่า “เจนซี” โดยซีเป็นเสียงก้องที่ลมเสียดแทรกออกมาจากไรฟันและเส้นเสียงในคอต้องสั่น ไม่เหมือน C ซึ่งเส้นเสียงจะไม่สั่นนะคะ

คนกลุ่ม เจนซี คือกลุ่มที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1997 ถึง 2012 หรืออายุ 12 ถึง 27 ปี ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่มีความมั่นใจสูงว่าความมั่งคั่งของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในสังคมตะวันตก กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้ชีวิตแบบ digital nomad หรือผู้เร่ร่อนทางดิจิทัล คือทำงานออนไลน์ ซึ่งสามารถจากที่ไหนก็ได้ หากมีอินเทอร์เน็ต

เฟเดอริค บูสเลอร์ ได้เรียกระยะต่อไปที่จะเกิดเหตุการณ์ โอนถ่ายความมั่งคั่งให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ เจนซี ว่า “The Great Wealth Transfer” ซึ่งคนเจนซีจะเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ จากการสำรวจในต่างประเทศพบว่า คนกลุ่มนี้ มีเงินเดือนเติบโตเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ 2 เท่า ไม่กลัวที่จะใช้เงิน เดินทางไปต่างประเทศยาวนานกว่าคนรุ่นก่อนๆ ครึ่งหนึ่งของคนเจนซี สนใจสร้างธุรกิจ (Start up) และสนใจที่จะเลือกไปอยู่ประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จึงอยากมีพาสปอร์ตมากกว่า 1 ประเทศ

คนกลุ่มนี้ได้เงินมาง่าย ใช้เงินง่าย ชอบสินค้าฟุ่มเฟือย และมีแนวโน้มที่จะได้รับมรดกจากรุ่นก่อน ซึ่งเมื่อมีการส่งต่อมรดกมาให้ กลุ่มนี้ก็ยิ่งมีเงินใช้มากขึ้น

สรุปว่า ผู้มีความมั่งคั่งสูงในยุคต่อไป จะเป็นกลุ่ม “รับ”ความมั่งคั่งที่คนรุ่นก่อนสร้างให้ แต่หาเงินเองบ้าง ได้มรดกบ้าง ก็ยังถือว่ามีความพยายามอยู่

ที่เป็นห่วงคือ ในประเทศกำลังพัฒนา คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่ง ไม่อยากทำงานอะไร และรอเวลารับมรดกจากรุ่นก่อน ซึ่งดิฉันไม่อยากเห็นวัฒนธรรมนั้นในเมืองไทย และอยากจะขอให้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของภาพยนตร์ดังเรื่องหนึ่งจริงๆค่ะ ไม่อยากให้สร้างค่านิยมผิดๆในสังคมไทยที่ความกตัญญูเป็นสิ่งที่ควรทำ และทำโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน

2024-04-22T01:09:30Z dg43tfdfdgfd