หนุ่มสาวญี่ปุ่นไม่อินวัฒนธรรม “โหมงานหนัก” รักชีวิตมากขึ้น

วัฒนธรรมการบ้างาน และการโหมงานหนักจนตายหยั่งรากลึกในสังคมญี่ปุ่น จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่กลับไม่อินในวัฒนธรรมนี้ และเริ่มให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตมากขึ้น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีคำเรียกอย่างเป็นทางการ สำหรับภาวะที่คนทำงานหนักจนตัวตาย โดยเรียกว่า “โรคคาโรชิ” (Karoshi)

วัฒนธรรมการทำงานหนักจนตายของญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคเอโดะ (Edo) จากแนวคิด "บูชิโด" (Bushido) ในกลุ่มซามูไร 

ตำรวจสหรัฐฯ เดินหน้าบุกสลายม็อบหนุนปาเลสไตน์

เขื่อนปรับภูมิทัศน์คลองสามทรุด ชาวบ้านคาดเกิดจากหน้าแล้งน้ำแห้งขอด

ที่เน้นเรื่องการเคารพเชื่อฟัง ความจงรักภักดี ความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด แม้แต่ความตาย เพื่อรักษาเกียรติยศของตนเอง และเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม

แนวคิดนี้หลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นในยุคนั้น จนพัฒนามาเป็นทัศนคติในการทำงานหนัก ขยันหมั่นเพียร อุทิศตัวให้งานเพื่อบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ ซึ่งแนวคิดนี้เองที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตแบบก้าวกระโดด ผงาดขึ้นมาเทียบชั้นมหาอำนาจโลกได้ แม้จะเคยพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่การยึดถือแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งจนมากเกินพอดี ย่อมเป็นดาบสองคม และส่งผลเสียตามมา เพราะการโหมงานหนักจนเกินขีดจำกัดของร่างกาย นำไปสู่การล้มป่วยและเสียชีวิตของคนทำงาน ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงปัญหาการฆ่าตัวตายที่พุ่งสูง เนื่องจากทนต่อแรงกดดันในสังคมไม่ไหว

ระบบอาวุโสและการยึดมั่นในการทำงานเป็นทีมของบริษัทญี่ปุ่น ทำให้เกิดข้อปฏิบัติที่ทำสืบทอดกันมา เพื่อให้สามารถเข้ากับสังคมในที่ทำงานได้ และมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน อาทิ ลูกน้องจะยังไม่กลับบ้านจนกว่าเจ้านายจะกลับก่อน และการทำงานล่วงเวลาวันละหลายชั่วโมงนั้นถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เงินเดือนทุกคน

แม้จะทำงานหนักตรากตรำมาตลอดทั้งวัน แต่พอหลังเลิกงาน คนญี่ปุ่นก็ยังต้องกินดื่มสังสรรค์ กระชับความสัมพันธ์กับเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้การสื่อสารและการทำงานในองค์กรราบรื่นขึ้น ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ปฏิเสธไม่ได้ จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โนมิไค" (Nomikai)

แต่หลังยุคโควิด-19 ทัศนคติของคนทำงานรุ่นใหม่ก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยผลสำรวจล่าสุดจากสถาบันวิจัยแห่งชาติญี่ปุ่น ชี้ว่า มีพนักงานออฟฟิศวัยหนุ่มสาวแค่ 30% ที่ยังมองว่าการพยายามขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงกว่าตำแหน่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสำหรับพวกเขา งานที่ทำแล้วมีความสุข บรรยากาศการทำงานที่ดี และความสนุกที่ได้จากการทำงานร่วมกับคนอื่น สำคัญกว่ามาก

สอดคล้องกับข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของพนักงานที่ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง ในปี 2022 อยู่ที่ 9% ซึ่งลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับสถิติของเมื่อ 20 ปีก่อน

นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ยังเข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์หลังเลิกงานของคนญี่ปุ่น เพราะในช่วงที่มีโรคระบาด บาร์และร้านอาหารถูกปิดทั้งหมด หนุ่มสาวออฟฟิศเริ่มชินกับการไม่ต้องปาร์ตี้ และมีเวลาพักผ่อนหลังเลิกงานเพิ่มขึ้น บางคนถึงขั้นไม่รู้สึกผิดที่จะปฏิเสธ หรือขีดเส้นแบ่งเรื่องชีวิตส่วนตัวกับเรื่องงานแล้ว

 

ยูกิ ซาโตะ วัย 24 ปี ซึ่งทำงานเป็นพีอาร์ให้กับคาโอ (Kao) บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและเคมีภัณฑ์ เผยว่า เธอยังต้องทำงานล่วงเวลาทุกวัน วันละ 2 ชม.ครึ่ง กว่าจะกลับถึงบ้านก็เหนื่อยและง่วงมากแล้ว ฉะนั้น การรักษา work-life balance ในวันทำงานจันทร์-ศุกร์ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ซาโตะจบการศึกษาในปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกกำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 เธอยอมรับว่าวิกฤตโรคระบาดนี้ทำให้คนตระหนักได้ว่าสถานการณ์ในชีวิตล้วนมีแต่ความไม่แน่นอน บางคนทำงานไม่ได้ บางคนตกงาน ธุรกิจล้ม บางอาชีพค่าแรงเพิ่มขึ้น บางอาชีพรายได้ลดลง ราคาสินค้าก็ขึ้นๆ ลงๆ

ปัจจุบัน เธอเน้นสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานช่วงมื้อกลางวัน แทนการสังสรรค์หลังเลิกงาน เธอบอกว่า ยุคนี้ ใครอยากทำอะไรก็ควรได้ทำเลย เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้คนหลากหลายขึ้นมากแล้ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คอนนี เจิง ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย ชี้ว่า โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของคนหนุ่มสาวทั่วโลก ไม่เพียงแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น สมัยนี้คนมองหางานที่ทำแล้วยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ และสภาพแวดล้อมในองค์กรมีความหลากหลาย

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรญี่ปุ่นที่เห็นได้ชัด คือ ไมโครซอฟท์ญี่่ปุ่น ที่ทดลองรูปแบบการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เมื่อเดือน ส.ค.ปี 2019 ผลคือ การประชุมงานแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพ พนักงานมีความสุข และประสิทธิผลของงานเพิ่มขึ้น 40%

แม้เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่งเองเพิ่งจะมีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างครั้งใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ แต่ข้อมูลล่าสุดจากรายงานดัชนีความสุขโลก สะท้อนว่าคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นยังคงไม่มีความสุขในชีวิต เมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาวในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว

และปัจจุบัน เราจะเห็นว่าคนทำงานญี่ปุ่นเริ่มออกไปหางานทำในต่างประเทศกันมากขึ้น กล้าที่จะทำอาชีพอาชีพอิสระและหลากหลายขึ้น มากกว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนแบบเต็มเวลา

2024-05-05T09:05:56Z dg43tfdfdgfd