NATURAL BIRTH คลอดธรรมชาติ การเริ่มต้นของชีวิต

  • ช่วงเวลาของการรอคลอดธรรมชาติถือว่าสำคัญและมีประโยชน์มาก เพราะไม่เพียงแต่ช่วยในการปรับฮอร์โมนของแม่เท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาของการเตรียมตัวของทารก ปรับสภาพปอดให้พร้อมเผชิญโลกภายนอก
  • การคลอดธรรมชาติ (Natural Birth) เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ ไม่มีความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการคลอดธรรมชาติมีความปลอดภัย อีกทั้งยังได้สัมผัสถึงความรู้สึกและสัญชาตญาณของความเป็นแม่ ที่แม้จะเจ็บปวดแต่กลับสร้างความผูกพันอย่างลึกซึ้ง 
  • การคลอดธรรมชาติจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นเบาหวาน และมีโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่ผ่าตัดคลอด

การมีสุขภาพดี ไม่ได้หมายความเพียงแค่ “ไม่ป่วย” แต่คือการมีสุขภาพดีตั้งแต่เกิดจนแก่เฒ่า ซึ่งมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า “การคลอดธรรมชาติ” เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สุขภาพดีตลอดชีวิต 

การเริ่มต้นของชีวิตใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีชีวิตคู่ คู่แต่งงานดูแล ใส่ใจสุขภาพตั้งแต่ก่อนที่ฝ่ายหญิงจะตั้งครรภ์ เมื่อคู่แต่งงานแข็งแรงสมบูรณ์ดี สามารถตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่งผลต่อสุขภาพของทารกตั้งแต่แรกเกิดไปจนตลอดชีวิต เป็นการส่งต่อสุขภาพที่ดี แข็งแรง จากรุ่นไปสู่รุ่น 

ธรรมชาติได้จัดสรรกระบวนการคลอดมาแล้วอย่างลงตัว หากไม่มีการขัดขวางหรือแทรกแซงในทุกกระบวนการ การคลอดแบบธรรมชาติจะช่วยปรับฮอร์โมนของแม่ที่ส่งผลต่อลูก ฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในกระบวนการคลอดธรรมชาติ จะเตรียมความพร้อมของทารกในครรภ์ให้ออกมาสู่โลกภายนอก พร้อมที่จะหายใจและดูดนมแม่ ฮอร์โมนหลายตัวที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้กระบวนการเกิดเป็นไปอย่างสมบูรณ์และพอดี ส่งเสริมให้ร่างกายทำงานได้ดีและสอดคล้องกันได้ตามธรรมชาติ ลูกก็จะคลอดง่าย เมื่อกระบวนการคลอดเสร็จสิ้น แม่จะได้กอดลูกทันที เป็นความสุขต่อเนื่อง สร้างความผูกพันทางอารมณ์ (Bonding) และการให้ทารกดูดนมทันทีหลังคลอด (Breastfeeding) จะทำให้แม่ลูกมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นตั้งแต่แรกเกิด โดยสายสัมพันธ์ไม่ได้มีผลเฉพาะจิตใจ แต่กระบวนการคลอดธรรมชาติจะส่งผลไปถึงสุขภาพเด็กในตอนโตอีกด้วย 

ตามธรรมชาติ ทารกในครรภ์อยู่ในถุงน้ำคร่ำ การหายใจผ่านรกซึ่งยังมีน้ำเต็มปอด แต่เมื่อคลอดออกมา ทารกต้องหายใจด้วยตัวเอง จึงต้องมีระยะเวลาในการปรับตัว เพื่อออกมาสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม โดยต้องการการประคับประคองจากแม่ ดังนั้นช่วงเวลาของการรอคลอดธรรมชาติถือว่าสำคัญและมีประโยชน์มาก เพราะไม่เพียงแต่ช่วยในการปรับฮอร์โมนของแม่เท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาของการเตรียมตัวของทารก ปรับสภาพปอดของลูกให้พร้อมเผชิญโลกภายนอก

การคลอดธรรมชาติ (Natural Birth)

เป็นการคลอดโดยไม่มีตัวช่วย ไม่ใช้ยาระงับปวด ไม่ใช้วิธีการผ่าตัด โดยคุณแม่จะทำการให้กำเนิดบุตรด้วยการเบ่งคลอดเองทางช่องคลอด หลังครบกำหนดระยะเวลาของอายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 42 สัปดาห์ โดยทารกต้องพร้อมคลอดในท่ากลับหัว จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนตัวมายังอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอดแบบธรรมชาติ

การคลอดธรรมชาติ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ ไม่มีความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการคลอดธรรมชาติมีความปลอดภัยที่สุด อีกทั้งยังได้สัมผัสถึงความรู้สึกและสัญชาตญาณของความเป็นแม่ ที่แม้จะเจ็บปวดแต่กลับสร้างความผูกพันอย่างลึกซึ้ง มีผลต่อจิตใจและความรู้สึกภูมิใจในความเป็นแม่ 

การคลอดธรรมชาติ ตามสัญชาตญาณจะคลอดในท่านอนไม่ได้ คุณแม่ต้องอยู่ในท่าลำตัวตั้งขึ้น (upright) เพื่อให้แรงโน้มถ่วงของโลกช่วยดึงศีรษะเด็กให้เคลื่อนลง จากนั้นทารกจะค่อยๆ ปรับรูปหัวให้เป็นทางยาว ค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ใช้เวลานานนับชั่วโมง ซึ่งการคลอดธรรมชาติในโรงพยาบาลโดยทั่วไปแล้ว จะอนุญาตให้คุณพ่อหรือญาติสนิทที่รักใคร่ของครอบครัวสามารถอยู่เคียงข้างคุณแม่ได้ เพื่อช่วยไม่ให้คุณแม่ตื่นตกใจและเกิดความกลัว คุณแม่จะมีความภูมิใจในตัวเอง (sense of autonomy) เป็นความรักลูกที่ไม่มีอะไรทดแทนได้ (her birth is her choice) หลังคลอดก็กลายเป็นคุณแม่ที่มีการพัฒนาและสร้างความมั่นใจ ส่งผลต่อจิตใจและความสุขครอบครัว

ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ

ข้อดีของการคลอดแบบธรรมชาติ ส่งผลดีต่อแม่และลูก ดังนี้ 

ข้อดีสำหรับคุณแม่

  • มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นการคลอดแบบธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ หรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง มีโอกาสติดเชื้อในมดลูกน้อย และมีการเสียเลือดน้อยกว่าการคลอดแบบผ่าตัด
  • แผลมีขนาดเล็ก การคลอดธรรมชาติโดยเฉพาะการคลอดในท้องแรก แม้ปากช่องคลอดจะมีความยืดหยุ่นไม่มาก หากมีการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ช่องคลอดจะสามารถขยายจนเด็กออกมาได้โดยไม่มีบาดแผล  
  • ฟื้นตัวได้รวดเร็ว คุณแม่สามารถเคลื่อนไหว ลุก นั่ง เดินได้หลังคลอดทันที รวมถึงใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน 
  • กอดลูกได้ทันที สามารถสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก โดยให้ลูกดูดนมแม่  
  • ไม่มีผลกระทบของการผ่าคลอด ซึ่งอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์และการคลอดในท้องต่อๆ ไป

ข้อดีสำหรับทารก

  • เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทารกจะได้รับภูมิคุ้มกันจากเชื้อแบคทีเรีย (Microbiome) ในช่องคลอดของแม่ และจะมีภูมิอย่างต่อเนื่องไปจนโต
  • เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นเบาหวานน้อยกว่าเด็กที่ผ่าคลอด อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประกอบด้วย
  • เด็กที่คลอดเองตามธรรมชาติ มีโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่ผ่าตัดคลอด

งานวิจัยที่สนับสนุนเรื่องการคลอดธรรมชาติ ที่ส่งผลต่อแม่และลูก

ปัจจุบันในต่างประเทศมีการพูดถึง birth experience โดยระบุว่า ทารกมีความรู้สึกและรับรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และสิ่งสำคัญคือทารกในครรภ์มีส่วนร่วมในการคลอด เป็นการร่วมมือกันระหว่างแม่และทารก คล้ายการวิ่งมาราธอนด้วยกัน เนื่องจากใช้ระยะเวลาร่วมกันอย่างยาวนาน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด

ดังนั้นการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลที่ส่งเสริมเรื่องการคลอดธรรมชาติ* จึงมีการกระตุ้นพัฒนาการเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์อย่างต่อเนื่อง จนถึงเวลาคลอด มีบางงานวิจัยระบุว่า เด็กสามารถจำกระบวนการเกิดได้ ซึ่งทารกมีระบบประสาทและความรู้สึก ทั้งความเจ็บปวดและมีความสุขได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ กระบวนการคลอดจึงเป็นการลงรายละเอียดถึงคุณภาพชีวิต สายสัมพันธ์แม่ลูก และการส่งเสริมสุขภาพต่อเนื่องหลังคลอดของแม่และลูก ทารกจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี และคุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง

มีการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพที่ดีของเด็กที่คลอดธรรมชาติเพิ่มเติมมากขึ้น ทั้งเรื่องไมโครไบโอม (Microbiome) เนื่องจากในกระบวนการคลอด เด็กจะผ่านช่องคลอดของแม่ และได้รับแบคทีเรียที่ดี เป็นการส่งเสริมสุขภาพตัวเองในอนาคต ผลการวิจัยยืนยันว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติ มีโอกาสเป็นภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กผ่าคลอดอย่างชัดเจน  

ทั้งนี้ ยังมีผลวิจัยว่าทารกที่เกิดจากการผ่าคลอด เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าเด็กที่คลอดตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ภาวะเบาหวานขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของแต่ละคนประกอบด้วย  

แม้ผลการวิจัยที่กล่าวถึงผลดีของการคลอดธรรมชาติจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การผ่าคลอดเองก็มีข้อดีเช่นกัน บางครั้งการผ่าคลอดสามารถช่วยชีวิตคุณแม่และทารกที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ อย่างไรก็ตาม การผ่าคลอดควรมาจากความจำเป็นมากกว่าวางแผนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เนื่องจากผลลัพธ์หลังคลอดนั้นแตกต่างและทดแทนกันไม่ได้ 

*โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลที่ส่งเสริมการคลอดธรรมชาติ ด้วยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่พร้อมให้คำปรึกษาและดูแลโดยเฉพาะ

การลดความเจ็บปวดจากการคลอดธรรมชาติ

การลดความเจ็บปวดในการคลอดธรรมชาติ สำหรับคุณแม่ที่ทนความปวดไม่ได้หรือทนความเจ็บปวดได้น้อย การเรียน maternal class เพื่อเตรียมตัวให้รู้ว่าต้องพบเจอกับอะไรบ้าง เนื่องจากการคลอดครั้งแรก คุณแม่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความปวดด้วยความกลัว เมื่อเกิดความกลัว การหลั่งฮอร์โมนจะไม่สมดุล ดังนั้นการเตรียมตัวล่วงหน้าจะช่วยให้คุณแม่ไม่ตื่นตระหนกหรือกลัวมากเกินไป สามารถลดความเจ็บปวดลงได้ รวมถึงการไม่เร่งคลอดจะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลาย ส่งผลให้การคลอดราบรื่นและปลอดภัย 

อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดขณะคลอดช่วยให้คุณแม่มีแรงเบ่งให้ทารกคลอดออกมาได้ เนื่องจากการคลอดธรรมชาติจะไม่มีการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ช่วยดึงศีรษะเด็กออกมา 

ภาวะเจ็บก่อนคลอดเกิดจากฮอร์โมนที่เตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อคลอดทารก หลังจากนั้นฮอร์โมนตัวรองก็จะทำงานเพื่อกระตุ้นให้แม่ผลิตน้ำนม ซึ่งน้ำนมจะผลิตได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทารกที่ควรได้ดูดนมแม่หลังคลอด ซึ่งเป็นระยะที่ดีที่สุดในการสร้างสายสัมพันธ์ (sensitive period) เป็นช่วงเวลาการสัมผัสที่มีความหมายมาก (skin to skin contact)   

ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ดูแลสุขภาพให้ดีตั้งแต่เริ่มเตรียมตัวตั้งครรภ์ อาจตรวจพบปัญหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ หรือไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่น้ำหนักเกิน อาจเป็นเหตุให้ต้องผ่าตัดคลอด 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามการคลอด หลายคนเลือกที่จะผ่าคลอด โดยไม่สนใจอายุครรภ์ ทำให้เกิดการคลอดที่ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งทารกจะขาดช่วงเวลาในการปรับตัวที่จะออกมาหายใจด้วยตัวเอง ส่งผลให้เด็กมีภาวะหายใจเร็ว เนื่องจากมีน้ำอยู่ในปอด จนต้องเข้าสู่กระบวนการดูแล เพื่อช่วยการหายใจ รวมถึงระบบการเต้นของหัวใจ เมื่อทารกแรกคลอดต้องใช้เวลาปรับตัวในห้องแยกเพื่อดูอาการ ส่วนคุณแม่ต้องดูแลแผลหลังคลอด กระบวนการคลอดแบบนี้เสมือนได้คนป่วย 2 คน สายสัมพันธ์แม่ลูกจึงไม่เกิด  

ในความจริงแล้วการคลอด 37-38 สัปดาห์ ไม่ได้รับประกันว่าเด็กจะปลอดภัย ทารกไม่ได้พร้อมคลอด ยังไม่มีการส่งสัญญาณ ร่างกายของทารกเองอาจยังไม่พร้อมออกมาพบกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง แต่ถูกกำหนดให้ออกมาด้วยการผ่าคลอด

กรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นต้องผ่าคลอด ถือเป็นการตัดสินใจเด็ดขาด สามารถทำได้เช่นกัน แต่ควรมีการแทรกแซงน้อยที่สุด เช่น ผ่าคลอดเมื่ออายุครรภ์ 39 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อรอให้ทารกมีความพร้อมมากที่สุด

การคลอดในน้ำ

คลอดในน้ำ (Water birth) คือทางเลือกสำหรับคุณแม่ที่ไม่ต้องการใช้ยา  การคลอดในน้ำจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ เนื่องจากการคลอดจะช้าลง ความเย็นและความอุ่นของน้ำช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และพยุงให้ตัวเบาขึ้น หรือแช่น้ำเพื่อบรรเทาปวด แล้วสามารถขึ้นมาคลอดด้านบนได้ 

ทารกสามารถคลอดในน้ำได้โดยไม่เป็นอันตราย เนื่องจากยังไม่มีการหายใจ ออกซิเจนยังได้จากสายสะดือ เมื่อเด็กสัมผัสอากาศแล้วจึงเริ่มหายใจปกติ ซึ่งทารกที่คลอดในน้ำส่วนใหญ่จะร้องไห้น้อยมาก

สาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้

คุณแม่ที่ต้องการคลอดธรรมชาติ ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและได้รับการดูแลตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ กรณีแพทย์ประเมินว่าเป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำ สามารถคลอดธรรมชาติได้เกือบ 100% แต่หากเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เคยดูแลสุขภาพ หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน น้ำหนักตัวมาก หรือตั้งครรภ์โดยไม่ได้เตรียมตัว อาจมีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน หรือครรภ์เป็นพิษ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปรับอาหาร เพิ่มการออกกำลังกาย เมื่อสามารถลดน้ำหนัก และควบคุมเบาหวานได้โดยไม่ต้องฉีดอินซูลิน ก็มีโอกาสคลอดธรรมชาติได้

นอกจากนี้การตรวจพบว่าทารกในครรภ์ตัวโตเกินไป หรืออยู่ผิดท่าก็จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีผ่าคลอด ซึ่งหากคุณแม่ได้รับการผ่าคลอดแล้ว มักพบปัญหาในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป เนื่องจากการผ่าคลอดทำให้โพรงมดลูกเป็นแผล อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ส่งผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ลดลง ทำให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น หรือมีการตั้งครรภ์ที่ทารกเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากโพรงมดลูกเกิดพังผืดจากแผลผ่าตัด ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ปกติการผ่าคลอดจากปัญหาที่เกิดจากแม่จะมีน้อยกว่าปัญหาของทารกในครรภ์ เช่น มีภาวะแทรกซ้อน ครรภ์เป็นพิษ ส่วนปัญหาทารกที่ต้องผ่าคลอด ได้แก่ หัวใจเต้นช้า มีความเครียด ถ่ายขี้เทาออกมาในน้ำคร่ำ ภาวะขาดออกซิเจน แพทย์จำเป็นต้องช่วยชีวิตทารกด้วยการผ่าคลอด

การเตรียมตัวคลอดธรรมชาติ

คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จะส่งผลให้การคลอดธรรมชาติได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยวางแผนพบแพทย์ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน กรณีคุณแม่มีน้ำหนักเกิน อาจต้องเพิ่มระยะเวลามากขึ้น กรณีคุณแม่มีโรคประจำตัวจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อควบคุมโรคประจำตัว ด้วยการปรับเปลี่ยนยา และปรึกษาว่าสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ เนื่องจากคุณแม่ควรมีสุขภาพดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เมื่อสุขภาพพร้อมที่จะตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำและปรับการรับประทานอาหาร เพิ่มวิตามินที่สำคัญ และดูแลไลฟ์สไตล์ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น และตรวจคัดกรองยีนเพื่อค้นหาโรคทางพันธุกรรมที่ซ่อนอยู่ 

หลังจากคุณแม่มีสุขภาพดีสมบูรณ์ที่สุดแล้ว จึงปล่อยให้ตั้งครรภ์ตามธรรมชาติภายในปี 1 กรณีที่คู่สมรสอายุมาก อาจปล่อยตามธรรมชาติเพียง 3 เดือน ถ้าไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ต่อไป

การดูแลเมื่อตั้งครรภ์

วิธีที่ดีที่สุดคือการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เมื่อเกิดความเคยชินและตั้งครรภ์แล้ว การใช้ชีวิตแบบส่งเสริมสุขภาพที่ดี คุณแม่จะไม่รู้สึกฝืน เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์เป็นช่วงที่จะต้องมีสุขภาพดีที่สุด ห้ามเจ็บป่วย นอกจากนี้ควรมีการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น กำจัดยุง เนื่องจากอาจได้รับเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะแท้ง หรือมีโอกาสทำให้ทารกในครรภ์มีภาวะผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด

หลังจากตั้งครรภ์อย่างสมบูรณ์แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการฝากครรภ์ ดังนี้ 

  • ระยะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก แพทย์จะดูแลภาวะแพ้ท้อง และเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแท้ง 
  • ไตรมาสที่ 2 อาการแพ้จะทุเลาลง ควรดูแลปรับอาหารที่มีประโยชน์ เริ่มออกกำลังกายที่เหมาะสม ส่วนทางการแพทย์จะดูแลคู่ขนานในเรื่องความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงดูแลสุขภาพของทารกในครรภ์ โดยการตรวจความผิดปกติของโครโมโซม อัลตราซาวนด์โครงสร้างร่างกายของทารก 
  • ไตรมาสที่ 3 ดูแลคุณแม่ให้น้ำหนักขึ้นพอดี ตรวจไม่พบเบาหวาน ทารกพร้อมคลอดในท่าที่คลอดง่าย ไม่อ้วนเกินไป จนถึงวันคลอด

การดูแลหลังคลอด

หากเปรียบเทียบระหว่างคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติและคุณแม่ที่ผ่าคลอด คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ามาก สามารถเดินเองได้ ให้นมลูกได้ทันที  ไม่มีอาการเจ็บแผล พักฟื้นระยะสั้น เฝ้าระวังเพียงภาวะตกเลือดหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นคุณแม่จะแข็งแรงขึ้นทันที รับประทานอาหารได้ปกติ สามารถออกกำลังกายได้ ยกเว้นว่ายน้ำ ควรรอประมาณ 1 เดือนครึ่ง และเมื่อลูกหย่านมแล้วก็สามารถตั้งครรภ์ต่อได้ทันที  

ขณะที่คุณแม่ที่ผ่าคลอดจะเจ็บแผลมากกว่า บางรายอาจมีความกลัวเมื่อต้องผ่าคลอดครั้งต่อไป การเลี้ยงลูกทำได้ลำบาก เนื่องจากเจ็บแผล และต้องเว้นการตั้งครรภ์ต่อไปอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง 

อัตราความสำเร็จจากการคลอดธรรมชาติที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

การคลอดธรรมชาติที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โดยคุณแม่ที่ได้รับการดูแลตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ถือว่าประสบความสำเร็จเกือบ 100% เนื่องจากอาจพบปัญหาขณะคลอด เช่น ทารกไม่ได้ตัวใหญ่แต่ช่องทางคลอดพอดีตัว ไม่สามารถผ่านออกมาได้เป็นเวลานานนับชั่วโมง แพทย์จำเป็นต้องรีบทำการผ่าตัดนำทารกออกมา หรือทารกอยู่ในท่าที่ไม่ขนานกับช่องทางคลอด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แม้จะพยายามที่สุดให้ทารกเคลื่อนตัวลงมา ก็ต้องทำการผ่าคลอดเพื่อนำทารกออกมา

จุดเด่นของโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ที่แตกต่างจากที่อื่น

จุดเด่นของการคลอดธรรมชาติที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ คือความใส่ใจและความอ่อนโยนของทีมแพทย์พยาบาล และผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการคลอด มีความค่อยเป็นค่อยไป รอคอยให้กระบวนการตั้งครรภ์และคลอดตามธรรมชาติค่อยๆ ดำเนินไป เป็นกำลังใจให้คุณแม่ตั้งครรภ์ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็มีทีมแพทย์ พยาบาล และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครัน พร้อมในการช่วยเหลือคุณแม่ หากเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงระหว่างการคลอด เพื่อความปลอดภัยอย่างสูงสุดของทั้งแม่และทารก  

แม้ทุกการคลอดคือความเครียด เป็นภาวะวิกฤติ บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีความเครียด แต่ห้องคลอดสามารถควบคุมความเครียด โดยไม่ส่งต่อความเครียดไปสู่คุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากความเครียดมีผลต่อคุณแม่อย่างมาก โดยเฉพาะฮอร์โมนในกระบวนการของการคลอด เมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย อบอุ่น ไม่เป็นอันตราย ล้อมรอบด้วยครอบครัวและคนรัก ฮอร์โมนจะดำเนินไปในห้องคลอดที่อบอุ่นเหมือนบ้าน พยาบาลดูแลอย่างนุ่มนวล และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือในทุกกรณี 

หากการคลอดมีปัญหา ก็สามารถส่งต่อไปยังห้องผ่าตัดได้ทันทีอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขณะทำการคลอดธรรมชาติ ห้องผ่าตัดคลอดก็เตรียมพร้อมด้วยเช่นกัน

เมื่อคลอดเสร็จ ทารกแข็งแรง สามารถดูดนมแม่และอยู่ด้วยกันทันที เนื่องจากชั่วโมงแรกถือเป็น golden period สร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก  

ลูกอยู่รอด แม่ปลอดภัย

กระบวนการเกิดไม่ใช่เพียงได้คุณแม่และลูกมา โดยมีชีวิตรอดปลอดภัย แต่การคลอดต้องการคุณภาพ ต้องมีสายสัมพันธ์แม่ลูก มีการให้นมลูก เป็นพัฒนาการของเด็ก เกิดความรักความผูกพันในครอบครัวที่แข็งแรงและต่อเนื่อง เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง มีสุขภาพที่ดี ส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่น

แม้เราจะมีการรณรงค์เรื่องความสำคัญของ “ลูกอยู่รอด แม่ปลอดภัย” แต่เรายังเห็นความสำคัญของสายสัมพันธ์ พ่อ แม่ ลูก และการให้นมบุตร ไปจนถึงพัฒนาการของเด็กอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูล : พญ.กนกนาถ บุญวิสุทธิ์ สูตินรีแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ชำนาญการด้านการคลอดธรรมชาติ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : Natural Birth คลอดธรรมชาติ การเริ่มต้นของชีวิต

ตามข่าวก่อนใครได้ที่

- Website : www.thairath.co.th

- LINE Official : Thairath

2024-05-03T11:00:32Z dg43tfdfdgfd